เกี่ยวกับสมาคม ข้อบังคับ สมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด โดยที่สมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ซึ่งมีชื่อเดิม คือ “สมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอด” ได้ก่อตั้งและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓ แต่ข้อบังคับที่เป็นธรรมนูญขององค์กรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังมิได้เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์ ดังนั้น ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๒ จึงได้มีความเห็นของสมาชิกส่วนหนึ่งที่จะให้มีการแก้ไขข้อบังคับฉบับนี้ โดยผู้ที่จะมาแก้ไขข้อบังคับจะต้องมาจากบุคคลที่หลากหลาย ซึ่งคณะกรรมการบริหารได้ดำเนินการคัดเลือกตัวแทนของสมาชิกในแต่ละรุ่นโดยให้ตัวแทนของสมาชิกคัดเลือกกันเองเพื่อเป็นตัวแทนในการยกร่างข้อบังคับของสมาคมฯ และการดำเนินงานต่างๆ ได้เสร็จสิ้นแล้ว จึงได้นำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๔ร่วมกันพิจารณา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ข้อ ๑. สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด” ใช้อักษรย่อว่า สศชพบ เรียกเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า “THE VOCATIONAL TRAINING AND SKILL DEVELOPMENT CENTER FOR THE BLIND ALUMNI ASSOCIATION” ย่อว่า VSBAA ข้อ ๒. เครื่องหมายของสมาคม มีลักษณะเป็นรูปนักศึกษาตาบอดเข้าแถวยืนตรงเคารพธงชาติ ด้านบนมีชื่อ “สมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด” ด้านล่างมีชื่อย่อภาษาอังกฤษ VSBAA (รูปเครื่องหมายของสมาคม) ข้อ ๓. สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๑๒๖/๔๔๐ – ๔๔๑ การเคหะชุมชนนนทบุรี หมู่ที่ ๕ ถนนสุขาประชาสรรค์ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ ข้อ ๔. คำนิยามตามข้อบังคับฉบับนี้ สมาคม หมายถึง สมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด หมายถึง สถาบันที่ให้การศึกษาแก่คนตาบอด ทั้งนี้ให้หมายรวมถึงโรงเรียนศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดนนทบุรี ซึ่งเป็นชื่อเดิมของสถาบันด้วย ศิษย์เก่า หมายถึง นักศึกษาตาบอดที่สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานจากศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ทั้งนี้ให้รวมถึงนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอดนนทบุรีด้วย คณะกรรมการบริหาร หมายถึง คณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด คณะอนุกรรมการ หมายถึง คณะอนุกรรมการสมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด สมาชิก หมายถึง สมาชิกสมาคมศิษย์เก่าศูนย์ฝึกอาชีพและพัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ข้อ ๕. วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อ ๕.๑ เป็นศูนย์กลางให้สมาชิกและศิษย์เก่าได้พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ ตลอดจนเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอด ให้สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข ๕.๒ ส่งเสริมความสามัคคีและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างศิษย์เก่า นักศึกษาปัจจุบัน คณาจารย์และผู้บริหารของศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ๕.๓ ร่วมมือกับสมาชิกและองค์กรคนพิการอื่นๆ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ โดยแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ๕.๔ ส่งเสริมให้สมาชิกได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพที่คนตาบอดสามารถทำได้ และส่งผู้แทนเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ๕.๕ ส่งเสริมและให้ความร่วมมือในกิจกรรมของศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด และธำรงรักษาไว้ซึ่งประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ๕.๖ ส่งเสริมและดำเนินการด้านการกีฬาเพื่อสุขภาพและความเป็นเลิศ ตลอดจนส่งผู้แทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนากีฬาของคนตาบอดในทุกระดับ ๕.๗ ส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพการแพทย์แผนไทยเพื่อคนตาบอดให้มีมาตรฐานตามหลักสูตรต่างๆ ตลอดจนส่งผู้แทนเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาการแพทย์แผนไทยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ๕.๘ ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกและครอบครัวประกอบอาชีพจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือสลากประเภทต่างๆ ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ พิมพ์ออกจำหน่าย หมวดที่ ๒ สมาชิก ข้อ ๖. สมาชิกของสมาคมมี ๓ ประเภท คือ ๖.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ ศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานจากศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ๖.๒ สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ ผู้ที่เป็นภรรยา หรือ บุตรธิดาของสมาชิกสามัญ ที่สมัครเป็นสมาชิกของสมาคม ๖.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการบริหารมีมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมและบุคคลผู้นั้นได้ตอบรับคำเชิญแล้ว ให้คณะกรรมการบริหารมีมติเห็นชอบให้ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์โดยตำแหน่ง ข้อ ๗. คุณสมบัติของสมาชิก สมาชิกของสมาคม จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ๗.๑ ต้องเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ๗.๒ ต้องไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ ๗.๓ ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือ เสมือนไร้ความสามารถ หรือ ไร้ความสามารถ หรือ โทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือ ลหุโทษการต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดดังกล่าวต้องเป็นในขณะที่สมัครเป็นสมาชิก หรือ ในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น ข้อ ๘. ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุงสมาคม และหลักฐานในการสมัคร ๘.๑ ค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงสมาคม ๘.๑.๑ สมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการสมัครครั้งแรก รายละ ๕๐ บาท ค่าบำรุงรายปีๆละ ๑๐๐ บาท และค่าบำรุงตลอดชีพ ๓๐๐ บาท สมาชิกประเภทรายปีจะต้องชำระค่าบำรุงให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมของทุกปี แต่ถ้ายังไม่ได้ชำระค่าบำรุงจะไม่มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิต่างๆ ของสมาคม จนกว่าจะได้ชำระค่าบำรุงเป็นที่เรียบร้อยแล้วอย่างน้อย ๗ วัน นับแต่วันที่ได้ชำระเงิน ๘.๑.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น ๘.๒ หลักฐานการสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมต้องประกอบด้วย ๘.๒.๑ รูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว หน้าตรงไม่สวมหมวก ไม่ใส่แว่น จำนวน ๓ ใบ ๘.๒.๒ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ๘.๒.๓ สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการ (เฉพาะสมาชิกสามัญ) ๘.๒.๔ สำเนาทะเบียนบ้าน ๘.๒.๕ สำเนาใบประกาศนียบัตร หรือหนังสือรับรองจากศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด (เฉพาะสมาชิกสามัญ) ๘.๒.๖ ค่าธรรมเนียมและค่าบำรุง ข้อ ๙. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะเป็นสมาชิกยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อนายทะเบียน โดยมีสมาชิกสามัญรับรองคุณสมบัติอย่างน้อย ๑ คน และให้นายทะเบียนนำรายชื่อของผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร ถ้ามติออกมาเป็นประการใดให้แจ้งผู้สมัครทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารได้พิจารณา ข้อ ๑๐. สมาชิกภาพ ๑๐.๑ สมาชิกภาพของสมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหารมีมติรับรองการเป็นสมาชิก ๑๐.๒ สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการบริหารได้พิจารณามาถึงสมาคม ข้อ ๑๑. การพ้นจากสมาชิก สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยสาเหตุต่อไปนี้ ๑๑.๑ ตาย ๑๑.๒ ลาออกโดยยื่นเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการบริหาร โดยคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นต้องชำระหนี้สินที่ยังติดค้างให้แก่สมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ๑๑.๓ ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๗ ๑๑.๔ ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือ คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน เพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน ต้องให้สมาชิกผู้นั้นมีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมใหญ่ และที่ประชุมใหญ่ได้มีมติด้วยเสียงข้างมากเสียก่อน ข้อ ๑๒. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก ๑๒.๑ สิทธิของสมาชิก ๑๒.๑.๑ มีสิทธิใช้สถานที่ของสมาคมทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบการใช้อาคารสถานที่ของสมาคม ๑๒.๑.๒ มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของสมาคมต่อคณะกรรมการบริหาร ๑๒.๑.๓ มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆของสมาคม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบของสมาคมว่าด้วยการใช้สวัสดิการสมาชิก ๑๒.๑.๔ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม ๑๒.๑.๕ สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการบริหาร และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ได้คนละ ๑ คะแนน โดยไม่ให้ออกเสียงแทนกัน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งของสมาคม ๑๒.๑.๖ มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการบริหาร เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม โดยมีสมาชิกสามัญลงลายมือชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ๑๒.๑.๗ มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันจำนวน ๑ ใน ๕ ของสมาชิกสามัญทั้งหมดหรือสมาชิกสามัญจำนวน ๑๐๐ คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้ ๑๒.๒ หน้าที่ของสมาชิก ๑๒.๒.๑ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด ๑๒.๒.๒ มีหน้าที่ปฏิบัติตนให้สมเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม ๑๒.๒.๓ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของสมาคม ๑๒.๒.๔ มีหน้าที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมตามที่มีหนังสือแจ้งไปยังสมาชิก ๑๒.๒.๕ มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ๑๒.๒.๖ มีหน้าที่ชำระค่าบำรุงหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ ๑๒.๒.๗ มีหน้าที่เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี และการประชุมใหญ่วิสามัญตามที่คณะกรรมการบริหารมีหนังสือแจ้งให้ทราบ หมวดที่ ๓ การดำเนินกิจการสมาคม ข้อ ๑๓. ให้มีคณะกรรมการบริหารคณะหนึ่ง ซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งในที่ประชุมใหญ่โดยจะต้องสมัครเป็นคณะเพื่อทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมมีจำนวนอย่างน้อย ๗ คน อย่างมากไม่เกิน ๑๕ คน ซึ่งตำแหน่งและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร มีดังต่อไปนี้ ๑๓.๑ นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนของสมาคมในการทำนิติกรรม – สัญญาต่างๆ หรือติดต่อกับบุคคลภายนอก ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการบริหารหรือการประชุมใหญ่ของสมาคม ๑๓.๒ อุปนายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจกรรมสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่ที่นายกสมาคมมอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมนั้นให้อุปนายกสมาคมตามลำดับเป็นผู้กระทำการแทน ๑๓.๓ เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคมตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆของสมาคม ๑๓.๔ เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการดูแลทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร หรือส่งให้ผู้สอบบัญชีจัดทำงบดุลประจำปี เก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ ๑๓.๕ ปฏิคม มีหน้าที่ในการต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าฝ่ายอาคารสถานที่ของสมาคม จัดเตรียมสถานที่ประชุมสัมมนาต่างๆ หรือการประชุมคณะกรรมการบริหาร หรือการประชุมใหญ่ของสมาคม ๑๓.๖ นายทะเบียน ทำหน้าที่ดูแลเอกสารเกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม นำรายชื่อผู้สมัครใหม่เสนอให้คณะกรรมการบริหารพิจารณารับรอง ประสานงานกับเหรัญญิกในการเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก ๑๓.๗ ประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่เป็นพิธีกรในการประชุมสัมมนาต่างๆ การจัดทำข่าวสารของสมาคมแจ้งให้สมาชิกทราบ เผยแพร่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปได้รู้จักอย่างแพร่หลาย ๑๓.๘ กรรมการตำแหน่งอื่นๆ อีกไม่เกิน ๘ คน ข้อ ๑๔. คณะกรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี สำหรับนายกสมาคมจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน ๒ วาระ ซึ่งการนับวาระในแต่ละครั้งให้เริ่มตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นต้นไป เมื่อคณะกรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระหรือพ้นวาระตามข้อ ๑๖ ให้จัดการเลือกตั้งภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ครบวาระหรือวันที่พ้นจากตำแหน่ง เมื่อที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ได้แล้ว จะต้องทำการยื่นขออนุญาตจดทะเบียนต่อทางราชการภายใน ๓๐ วัน นับจากวันเลือกตั้ง ในระหว่างที่คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการบริหารชุดเก่ารักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการบริหารชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ เมื่อคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการบริหารชุดเก่าและคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ข้อ ๑๕. ตำแหน่งกรรมการบริหารถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระ ก็ให้คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทน แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น ข้อ ๑๖. กรรมการบริหารสมาคมอาจพ้นจากตำแหน่งซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยสาเหตุต่อไปนี้ ๑๖.๑ ตาย ๑๖.๒ ลาออก โดยให้ยื่นเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการบริหาร และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการบริหารมีมติให้ออก ๑๖.๓ ขาดจากสมาชิกภาพ ๑๖.๔ ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๗ ๑๖.๕ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียง ๒ ใน ๓ ของคณะกรรมการบริหารที่เข้าร่วมประชุม ในกรณีนี้ ต้องให้สมาชิกผู้นั้นได้ชี้แจงเหตุผลต่อที่ประชุมใหญ่ และจะมีผลต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติให้ออก ๑๖.๖ ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ออกจากตำแหน่งด้วยมติเสียงข้างมากในที่ประชุม ข้อ ๑๗. ในกรณีที่นายกสมาคมพ้นจากตำแหน่งตามข้อ ๑๖ ให้ถือว่าคณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และให้อุปนายกสมาคมตามลำดับเป็นผู้รักษาการและจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ภายใน ๓๐ วันนับจากวันที่นายกสมาคมพ้นจากตำแหน่ง ข้อ ๑๘. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร ๑๘.๑ อำนาจของคณะกรรมการบริหาร ๑๘.๑.๑ มีอำนาจออกระเบียบต่างๆ เพื่อให้สมาชิกและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับสมาคมได้ปฏิบัติ โดยระเบียบนั้นจะต้องไม่ขัดกับข้อบังคับฉบับนี้ ๑๘.๑.๒ แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคมเมื่อได้กระทำความผิดขั้นร้ายแรงจนเป็นเหตุให้คณะกรรมการบริหารหรือสมาคมได้รับความเสียหาย ๑๘.๑.๓ แต่งตั้งกรรมการบริหารในตำแหน่งที่ว่าง หรือคณะอนุกรรมการ/คณะทำงานฝ่ายต่างๆ หรือที่ปรึกษาสมาคมได้ตามความเหมาะสม แต่ให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระของคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้ง ๑๘.๑.๔ มีอำนาจจัดประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อต้องการขอมติเร่งด่วนหรือเพื่อชี้แจงการบริหารงานต่อสมาชิก ๑๘.๑.๕ มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคมตามนโยบายที่ได้แถลงไว้กับสมาชิก หรือตามแผนงานของสมาคมที่กำหนดไว้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับข้อบังคับฉบับนี้ ๑๘.๑.๖ มีอำนาจส่งผู้แทนของสมาคมเข้าร่วมกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน ๑๘.๒ หน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร ๑๘.๒.๑ มีหน้าที่จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีภายในเดือนธันวาคมของทุกปี ๑๘.๒.๒ มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกจำนวน ๑ ใน ๕ ของสมาชิกสามัญทั้งหมดหรือสมาชิกสามัญจำนวน ๑๐๐ คน ของสมาชิกสามัญทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายใน ๓๐ วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ ๑๘.๒.๓ มีหน้าที่จัดเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ ให้สมาชิกตรวจสอบเมื่อมีการเข้าชื่ออย่างน้อย ๒๐ คน โดยต้องจัดสถานที่และอำนวยความสะดวกให้อย่างเหมาะสมภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ร้องขอ ๑๘.๒.๔ จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงินทรัพย์สิน และการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจัดให้สมาชิกตรวจสอบดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ ๑๘.๒.๕ มีหน้าที่จดบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคมเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน และจัดส่งให้สมาชิกหรือนำส่งให้หน่วยงานราชการรับทราบผลการดำเนินงานของสมาคมเป็นประจำทุกปี ๑๘.๒.๖ มีหน้าที่รับผิดชอบผลการดำเนินงานในกิจการต่างๆ รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินของสมาคม ตลอดจนบริหารงานเพื่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ๑๘.๒.๗ มีหน้าที่ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในข้อบังคับฉบับนี้อย่างเคร่งครัด ข้อ ๑๙. คณะกรรมการบริหารต้องจัดให้มีการประชุมกันอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือกิจการของสมาคม ข้อ ๒๐. ในการประชุมคณะ